โรงแรม kokotel เป็นโรงแรมที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 มีคอนเซ็ปท์เป็น “Bed and Café ที่นอนได้ห้องละ 4 คน ต้อนรับแขกด้วยคุณภาพของญี่ปุ่นและรอยยิ้มของไทย ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าชาวเอเซียที่เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และกลุ่มเพื่อนที่มาท่องเที่ยวด้วยกัน

kokotel มีเป้าหมายจะก่อตั้งโรงแรมในเอเชียอาคเนย์และในเอเชียใต้เป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีโครงการที่จะก่อตั้งสาขาเพิ่มในปี 2560 อีกด้วย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2560 พวกเราได้ทำการปรับปรุงเว็บไซต์ของ kokotel โดยร่วมมือกับ “Spoke” ซึ่งเป็นระบบแปลภาษา

kokotel มีงานด้านครีเอทีฟหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่เว็บไซต์ แต่ยังมีส่วนของโปสเตอร์ ใบปลิว เมนูอาหาร และอื่นๆ อีก แต่การออกแบบที่ทำออกมานั้นมักจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน พวกเราจึงอยากจะขอเสนอ Design Regulation (คู่มือการออกแบบ) ซึ่งจะพูดถึงกฎในการออกแบบว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับ


คู่มือการออกแบบ คืออะไร

regulation
(เรกกิวเล’เชิน)
n. กฎ,กฎข้อบังคับ,กฎเกณฑ์,ระเบียบ,ระบบ,การควบคุม,การดูแล,การปรับ,การทำให้เป็นระเบียบ
adj. ปกติ,ธรรมดา,เป็นประจำ,เป็นกิจวัตร

อ้างอิง:online-english-thai-dictionary.com

Design Regulation (คู่มือการออกแบบ) คือเอกสารที่อ่านแล้วจะทำให้เข้าใจกฎในการออกแบบ เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Design Guideline ตัวอย่างเช่น เมื่อดูแค่ที่ตัวโลโก้ ใช้สีหนึ่งดี แต่พอลองเทียบโลโก้กับสี background แล้ว ใช้อีกสีหนึ่งดีกว่า ห้ามวางโลโก้ในแนวเฉียง ห้ามให้มีอะไรทับอยู่ข้างบนตัวโลโก้

ในการทำคู่มือการออกแบบนั้น เราต้องคิดถึงกรณีต่างๆ หลายกรณี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าไม่มีคู่มือการออกแบบ กฎในการออกแบบก็จะอยู่แต่ในหัวของนักออกแบบเพียงแค่คนเดียว ถ้าหากเป็นงานที่ไม่ใหญ่และทำโดยนักออกแบบเพียงแค่ 2-3คน การทำเช่นนั้นก็สามารถเป็นไปได้ สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ปกติก็มักจะเป็นเช่นนั้น


การทำการออกแบบในแบบของ kokotel อย่างต่อเนื่อง

kokotel มีโครงการจะเพิ่มสาขาโรงแรมในปี 2560 อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว เมื่อจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น งานของนักออกแบบก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ในกรณีเช่นนี้ ไม่ควรให้กฎของการออกแบบอยู่แค่ในหัวของนักออกแบบคนใดคนนึงเท่านั้น เนื่องจากคนเราไม่สามารถมองทะลุไปถึงสมองของกันและกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเปลี่ยนนักออกแบบ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีกฎและการทำเอกสาร “คู่มือการออกแบบ” เพื่อที่การออกแบบในแบบของ kokotel นั้นจะได้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร

หากมีกฎข้อบังคับในการออกแบบแล้ว จะสามารถช่วยสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ และ ทำให้นักออกแบบสามารถออกแบบสิ่งต่างๆ ที่มีคุณภาพตามแบบของ kokotel ได้โดยที่ใช้เวลาไม่มาก

kokotel Graphic Design Regulation1

อธิบายจุดประสงค์ของคู่มือการออกแบบ
kokotel Graphic Design Regulation1

แก้ไขครีเอทีฟอดีตตามคู่มือการออกแบบ


ค่อยๆ ไปทีละสเต็ป

ตอนนี้ คู่มือการออกแบบนั้นก็ได้ทำสำเร็จแล้ว หลังจากนี้ ก็เหลือเพียงแค่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้กฎข้อบังคับในการออกแบบถูกนำไปใช้ในบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจะทำอย่างไรให้นักออกแบบทำงานตามข้อบังคับเหล่านี้ได้อย่างดี

ผมเองก็เป็นนักออกแบบและมีโอกาสได้อ่านเอกสารคู่มือการออกแบบนี้ ตอนที่อ่านก็รู้สึกว่ามีตัวอักษรเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกไม่อยากอ่าน เรามักจะได้ยินคนพูดว่า ”คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ผมก็เลยตั้งใจจะใส่ภาพประกอบเพิ่มลงไปให้มากขึ้น (แต่จริงๆ เราควรจะเลิกพูดว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ได้แล้ว เพราะ ในปี 2559มีสถิติใหม่ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือวันละ 66 นาที!)

คู่มือการออกแบบนี้เพิ่งจัดทำเสร็จ หลังจากนี้อาจจะมีกรณีที่บ่งชี้ว่าการออกแบบตามกฎเหล่านี้ใช้ได้ดีหรือไม่อย่างไร หรือ kokotel เองก็อาจจะมีการเพิ่มความคิดเห็นใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะฉะนั้นอาจจะมีการตั้งกฎใหม่ๆ เพิ่มในคู่มือการออกแบบด้วย คู่มือการออกแบบนี้จะได้รับการปรับปรุงใหม่อยู่ตลอดให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ กฎเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามตลอดเวลา นักออกแบบควรจะทำการออกแบบตามกฎเป็นมาตรฐานก็จริงอยู่ แต่การทำตามกฎตลอดก็อาจจะทำให้งานครีเอทีฟนั้นออกมาแบบไม่มีเสน่ห์ กฎก็คือกฎ เราต้องสังเกต แต่ในเรื่องของการสร้างสรรค์ เราก็ควรมีความคิดที่ผิดไปจากกฎบ้าง นั่นไม่ใช่เรื่องแย่ ดูเหมือนจะขัดกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญทั้งคู่ นักออกแบบควรจะรู้จักที่จะผสมผสานและปรับใช้กฎกับความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง